สมเด็จย่ากับตำรวจตระเวนชายแดน
จนกระทั่งปี พ.ศ. 2505
สมเด็จย่าเสด็จแปรพระราชฐานประทับที่พระตำหนักภูพิงราชนิเวศน์ จังหวัดเชียงใหม่ ขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯพร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ประทับอยู่ก่อนแล้ว หน้าที่ถวายอารักขาพระองค์เป็นหน้าที่ของ ต.ช.ด. ขณะนั้นคุณสล้าง บุนนาค และคุณประพันธ์ ยุกตานนท์ ซึ่งตอนนั้นมียศ ร.ต.ต. คุณสล้าง บุนนาค เป็นผู้ถวายอารักขา และเป็นผู้บังคับหมวดดูแลเส้นทางขึ้น-ลงพระตำหนัก ส่วนคุณประพันธ์ ยุกตานนท์ เป็นผู้บังคับหมวดอีกหมวดหนึ่ง และเป็นผู้วางกำลังคุมด้านหลังพระตำหนักที่เป็นป่ารกชัฏ วันหนึ่งสมเด็จย่าทรงพระดำเนินออกมาทางด้านหลัง ทรงพบคุณประพันธ์ และก็มารายงานตัวว่าเป็น ต.ช.ด. สมเด็จย่าได้รับสั่งว่า “เป็น ต.ช.ด. เหรอ นึกว่าเป็นทหาร” เป็นครั้งแรกที่สมเด็จย่ารู้จักกับ ต.ช.ด. ค่อนข้างจะเป็นส่วนพระองค์ ด้วยความที่ท่านโปรดการเดินป่า ท่านก็จะสำรวจรอบๆพระตำหนักภูพิงค์ และ ต.ช.ด. ทั้ง 2 คน ต้องถวายอารักขาใกล้ชิดพาไปสำรวจและมีชุดพัฒนาการล่วงหน้า ตัดป่าทำทางให้เดินสบายมากขึ้น ทำราวเชือกให้ทรงเกาะเวลาเป็นหน้าผาสูงชัน ทุกอย่างต้องคิดสังเกตและจัดการด้วยความรอบคอบให้เป็นไปตามพระราชประสงค์ทุกประการ บางครั้งท่านก็เสด็จไปที่น้ำตก แล้วปักป้ายชื่อจะมีชื่อแปลกๆเช่น น้ำตก ป.ป.ป. หมายถึง น้ำตกปีนป่ายปักป้าย บางแห่งก็ทรงพระราชทานชื่อว่าน้ำตก ต.ช.ด. หรือไม่ก็ น้ำตกมณฑาธาร เพราะแถวนั้นมีดอกมณฑามาก
อีก 2 ปีต่อมา ประมาณต้นปี 2507 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชประสงค์จะเสด็จเยี่ยมตำรวจชายแดนที่ค่ายดารารัศมี อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ค่ายดารารัศมี คือ บริเวณพระตำหนักของพระราชชายา เรียกว่า พระตำหนักดาราภิรมย์ ซึ่งตอนนี้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นเจ้าของที่ดินและได้บูรณะเป็นพิพิธภัณฑ์พระตำหนักดาราภิรมย์ (แต่ปีที่ผ่านมาช่วงนั้น ต.ช.ด. มาขอยืมสถานที่เป็นที่ทำการ ต.ช.ด.) ซึ่งทางที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ท่านอยากเสด็จไปเยี่ยมมีทากชุมมาก คุณสล้าง รับอาสาเป็นผู้ปราบทากโดยใช้ภูมิปัญญาชาวบ้าน คือ ทราบว่าทากเป็นสัตว์ที่ถ้ากินเลือดม้า หรือล่อ (เป็นลาผสมม้า) แล้วทากจะตายทันที ก็เลยเช่าม้าหรือล่อของชาวเขาประมาณ 30-40 ตัว จูงขึ้นจูงลงตามเส้นทาง เป็นอันว่าทากตายเรียบ ทำอย่างนี้เป็นเดือน ปรากฏว่าขบวนเสด็จปลอดภัย แล้วรู้สึกว่าแถวนี้ไม่มีทากเลย เป็นเบื้องหลังของการถวายอารักขาอำนวยสะดวกเดือนเมษายน พ.ศ. 2507
สมเด็จย่าทรงมีพระราชประสงค์ที่จะดำเนินไปพิชิตดอยอินทนนท์ สูง 2,577 เมตร ซึ่งคนที่พิชิตดอยในยุคนั้นมักจะเป็นชาวเขา ตำรวจ ทหาร ต.ช.ด. ตอนนั้นสมเด็จย่าทรงพระชนมายุ 64 พรรษา เพราะฉะนั้นก็เป็นหน้าที่ของ ต.ช.ด. ถวายอารักขาและอำนวยความสะดวกแก่ขบวนเสด็จตลอดเส้นทางขึ้น-ลง ก็มีการประชุมและตกลงกันว่า ให้เสด็จโดยเฮลิคอปเตอร์จากพระตำหนักที่ภูพิงค์มาลงที่หมู่บ้านผาหมอน ซึ่งอยู่ตีนเขา บ้านผาหมอนจะเป็นจุดเริ่มต้นที่จะทรงดำเนินขึ้นด้วยพระบาท และในวันที่ 26 เมษายน ท่านก็พิชิตดอยได้สำเร็จ ก็ถือว่าเป็นความมหัศจรรย์อย่างยิ่ง ท่านแข็งแรงมาก ไม่ยอมให้พระชนมายุเป็นอุปสรรค คุณสล้างเล่าให้ฟังว่า ต.ช.ด. ได้ส่งชุดพัฒนาการไปปักป้ายทำเครื่องหมายกันหลงทาง และมีนายแพทย์เตรียมเครื่องช่วยหายใจ เพราะว่าข้างบนความกดอากาศสูง ส่วนแม่บ้าน ต.ช.ด. ก็เตรียมอาหาร สมเด็จย่าท่านก็โปรดที่จะเสวยอาหารเช่นเดียวกับ ต.ช.ด. เหมือนกัน อาหารก็จะมีน้ำพริกปลาป่น น้ำปลาอย่างดี หมูทอดกระเทียมพริกไทย ซึ่งเป็นอาหารโปรด แถวผาหมอนจะมีต้นสะระแหน่มากก็เก็บมาทานกับน้ำพริก ท่านใช้คำว่า “กินอยู่อย่างผาหมอน” วันนั้นท่านก็ทรงเก็บใบสะระแหน่ใส่ถุงกลับวัง หลังจากที่สมเด็จย่าได้พิชิตดอยไปได้ 2 วัน ก็พระราชทานพระราชทรัพย์สำหรับสวัสดิการ ต.ช.ด. เขต 5 เป็นจำนวน 5,000 บาท ซึ่งสมัยนั้นก็ถือว่าเป็นจำนวนมาก และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็โปรดให้จัดงานผาหมอนรำลึกขึ้นบริเวณเนินดินข้างพระตำหนัก และถือโอกาสพระราชทานเลี้ยงแก่ผู้ถวายงานฉลองการพิชิตดอยสำเร็จ ต.ช.ด. มีหน้าที่ตกแต่งสถานที่ จำลองสภาพความเป็นจริงถวายให้ทอดพระเนตร ก็มีการใช้วัสดุธรรมชาติเช่นที่ประทับก็จะเป็นก้อนหินเล็กๆปูด้วยเป้สนาม ตรงกลางที่ประทับจะปูด้วยผ้าใบเป็นที่เสวย ในเต้นท์บรรทมก็จะปูด้วยหญ้าแห้งสุมทับกันหลายๆชั้น และปูทับด้วยผ้าใบอีกที ด้านนอกเต้นท์ก็จะมีตอไม้ กิ่งไม้แห้ง สุมเป็นกองไฟ เพื่อจำลองเหตุการณ์ สมเด็จย่าท่านก็ทรงเล่าประกอบ ซึ่งสนุกสนานมาก มีทั้งการแสดง ทั้งร้องเพลงถวาย และก่อนจะเสด็จกลับ สมเด็จย่าก็พระราชทานเหรียญเสมามหาราชให้กับ ต.ช.ด. วิธีการของพระองค์ก็โปรดให้ ต.ช.ด. ที่มีชั้นยศน้อยสุดเข้ารับก่อน ท่านห่วงมากสำหรับ ต.ช.ด. ชั้นผู้น้อย สำหรับบ้านผาหมอน อยู่ในพระราชหฤทัยของสมเด็จย่ามาตลอด เพราะว่าเป็นสถานที่ที่ทำให้ท่านพิชิตดอยได้ และเป็นโอกาสดีที่ทำให้ท่านทรงคุ้นเคย ผูกพันกับ ต.ช.ด. มากขึ้น ที่สำคัญอีกประเด็นคือ เป็นจุดกำเนิดของพระราชกรณียกิจที่สำคัญอีกหลายประการ ท่านทอดพระเนตรเห็นความเป็นอยู่ของ ต.ช.ด. และชาวเขารวมทั้งประชาชนที่ยากไร้ในถิ่นทุรกันดารจึงได้มีการริเริ่มตั้งหน่วยสาธิตแพทย์ในพระองค์และพัฒนาเรื่อยๆ มากลายเป็นแพทย์อาสา พ.อ.ส.ว.
วันหนึ่งเมื่อสมเด็จย่าเสด็จมาที่พระตำหนักภูพิงค์ ท่านมีกระแสรับสั่งกับคุณประพันธ์ มุกตานนท์ ว่าที่ค่ายของคุณประพันธ์ ที่อยู่บ้านนาหวาย อำเภอเชียงดาว ทำอะไรบ้าง ภูมิประเทศและความเป็นอยู่เป็นอย่างไรบ้าง คุณประพันธ์ก็กราบบังคมทูลว่า บ้านนาหวายมีอาณาเขตติดกับพม่า ซึ่งตอนนั้นมีการสู้รบกันระหว่างชนกลุ่มน้อย ก๊กมินตั๋ง และพวกไทใหญ่กับทหารพม่า พอต่อสู้กันทีไร และได้รับบาดเจ็บหรือแพ้ก็หนีเข้ามาในไทย ในชนกลุ่มน้อยที่ทำหน้าที่ทหาร ก็จะมีทหารหญิง แต่งตัวแบบชาย เรียกว่า
“นางเสือหาร” สมเด็จย่าท่านทรงรับสั่งว่า “นายประพันธ์ ฉันอยากเป็นนางเสือหาร แต่งตัวแบบนายประพันธ์” นอกจากนั้นท่านก็รับสั่งกับคุณสล้าง บุนนาค ว่า “นายสล้าง ฉันยังไม่มีเครื่องแบบใส่เลย” คุณสล้างก็ไปประสานงานกับนางสนองพระโอษฐ์ คือ คุณสวาท ช่างเรือ นำฉลองพระองค์ของพระองค์ท่านที่เป็นเสื้อเชิ้ตมาเป็นแบบให้ที่ร้านตัดเสื้อที่เชียงใหม่ตัด ชื่อร้าน “จงประดิษฐ์” อยู่ในตลาดเชียงใหม่เป็นผู้ตัดถวาย ใส่เสื้อเป็น ต.ช.ด. ผ้าแข็งๆมีที่มาจากตรงนี้ ขณะนั้นตัด 3 ชุด ตอนแตกตัด 1 ชุด พอท่านใส่พอดีก็ไปตัดเพิ่มให้คุณสวาท ไปถวาย หลังจากนั้นก็จะเห็นท่านฉลองพระองค์เป็นเครื่องแบบพลร่มของตำรวจชายแดน มีปีกพลร่ม ปักอักษรพระนามราชสกุล “มหิดล” เหนือกระเป๋าด้านขวา หมวกแบเรย์ ทรงดาบปลายปืนคาร์บิน ส่วนฉลองพระบาท ปกติสำนวนของ ต.ช.ด. จะใช้ว่า “ยัดทอป” คือต้องเก็บขากางเกงเข้าไปในรองเท้าบู๊ท แต่
ของพระองค์จะยกเว้น จะทรงเลือกตามสภาพพื้นที่บางครั้งก็จะเป็นฉลองพระบาทเดินป่า บางครั้งก็จะเป็นฉลองบาทหนัง หรือผ้าใบธรรมดา ส่วนพระมาลาจะเป็นแบเรย์ หมวกทรงอ่อน สีน้ำเงินเข้ม และมีเครื่องหมายตราแผ่นดิน จะเห็นว่าท่านทรงบ่อย มีเรื่องเล่าว่า วันแรกที่ทรงยังไม่ติดยศ ไม่มีเครื่องหมาย ท่านก็บอกว่าท่านยังไม่มีปีกเลยแล้ว ต.ช.ด.ก็เอามาให้ท่านตอนหลังก็จะมีชื่อ ติดป้ายชื่อ
หลังจาก พ.ศ. 2507 ท่าน
นอกจากจะมีระยะเวลายาวนานแล้วยังมีความใกล้ชิด ผูกพันกันมาก อันนี้เป็นที่มาของคำว่า “สมเด็จย่า” มีเรื่องเล่าว่า ทหารชั้นผู้น้อยท่านก็เมตตาเหมือนลูกหลาน ทำผิดไปท่านก็ดุเหมือนลูกหลาน ครั้งหนึ่ง พ.ต.ต. กระจ่าง เกิดผล ท่านเป็นผู้บัญชาการ ต.ช.ด. ได้ไปตรวจเยี่ยมการรับเสด็จในพื้นที่ ท่านก็ซักซ้อมการขานพระนามให้ถูกต้อง ได้ไปถามตำรวจชั้นผู้น้อยว่า “รู้ไหมใครจะเสด็จ” ทหารคนนั้นก็ตอบว่า “ทราบครับ สมเด็จย่า จะเสด็จ” ท่านก็ทรงรับสั่งว่า “ต.ช.ด. ทุกคนเป็นหลานของพระองค์” และบางทีตำรวจชั้นผู้ใหญ่ก็บอกว่า “เอ๊ะ เรื่องอะไรไปอาจเอื้อม” แต่เมื่อสมเด็จย่าท่านทราบก็มิได้คัดค้าน ก็รับสั่งว่า “เออ ฉันเป็นย่าเขาก็แล้วกัน” และก็เป็นเรื่องเล่าขานต่อๆกันจนทุกวันนี้ได้ใช้กันอยู่สมเด็จย่าท่านโปรดที่จะเสด็จเยี่ยมราษฎรพร้อมๆกับไปเยี่ยมฐาน ต.ช.ด. ตรงนี้เป็นแรงบันดาลใจที่สำคัญมากที่สมเด็จย่าทรงเริ่มงานพัฒนาต่างๆและทรงเห็นว่า ต.ช.ด. เขามีโรงเรียนของเขาอยู่ในท้องถิ่นธุรกันดาร และ ต.ช.ด. ก็มีหน้าที่เป็นครูสอนไปด้วย และ ต.ช.ด.ก็เคยพูดว่า “ผมเป็นคนร่างเดียว” หลายวิญญาณ” เพราะว่าเขาต้องทำหน้าที่ทหารและต้องทำหน้าที่ตำรวจคอยปราบปรามยาเสพติด ผู้ร้ายต่างๆ และทำหน้าที่พลเรือนด้วย คือ ทำหน้าที่เป็นครู ก็เลยมีหลายวิญญาณในร่างเดียว โรงเรียนของ ต.ช.ด. ก็สร้างแบบไม่ใช้งบประมาณของทางการเลย สร้างแบบตามมีตามเกิด และสมเด็จย่าท่านก็เลยทรงรับโรงเรียน ต.ช.ด. ไว้ในพระอุปการะ คนส่วนใหญ่เข้าใจว่าเป็นพระอุปถัมภ์ แต่พระอุปากระท่านยิ่งใหญ่มาก
พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์สร้างโรงเรียน เช่น โรงเรียนสังวาลย์วิทย์
1 ถึง 8 และชักชวนพระญาติ พระสหาย ซึ่งพระสหายชาวต่างประเทศก็มีหลายคน ก็มาร่วมกันสร้างโรงเรียนหลายแห่ง และทรงบริจาคอุปกรณ์การเรียนที่สำคัญด้วย เรียกว่าทำต่อเนื่องหลากหลายรูปแบบ เราอาจจะได้ยินชื่อโรงเรียนแปลกๆ เช่น โรงเรียน ต.ช.ด. เบ็ดตี้ดูแมน เป็นชื่อพระสหาย พอสร้างเสร็จก็ถูกเผา เพราะอยู่ในเขตผู้ก่อการร้าย ก็สร้างใหม่อยู่ใกล้ๆกัน หรือโรงเรียน ต.ช.ด.อาโอยาม่า ที่เชียงใหม่ และโรงเรียนดีมาการ์เร็ตพูลเลอร์ ที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ส่วนมากจะให้เกียรติกับผู้ที่บริจาค บางทีถ้าท่านไม่ได้พระราชทานพระราชทรัพย์เองก็จะทรงเสด็จไปประกอบพิธีเปิดให้ทุกโรงเรียนเลย เช่น โรงเรียนจุฬา-ธรรมศาสตร์ จะมี 1 ถึง 3 และมีโรงเรียน ต.ช.ด. กลุ่มนักข่าวหญิงอยู่ภาคอีสาน จังหวัดนครพนม มีโรงเรียนสื่อมวลชนสมัครเล่น ดารา แสดงว่าพระองค์ท่านปูทางไว้ให้กลุ่มต่างๆชักชวนกันมา และมีโรงเรียนรักบี้จุฬา-ธรรมศาสตร์ ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ท่านก็เสด็จไปประกอบพิธีเปิด โดยภาพรวมในอดีตโรงเรียน ต.ช.ด. มีทั้งสิ้น 683 โรงเรียน กระจายทั่วประเทศ บางส่วนพอเหตุการณ์สงบแล้วก็จะมอบให้กระทรวงศึกษาธิการดูแล และมีหลายโรงเรียนที่มอบไปประมาณ 400 กว่าโรงเรียน และที่มีฐานะเป็นโรงเรียนอีก 168 โรงเรียน ไม่รวมศูนย์การเรียนชุมชน ศูนย์การพัฒนาเด็กเล็กอีกหลายแห่งมากที่ ต.ช.ด. เข้ามามีบทบาท จำนวนนักเรียนก็ประมาณ 25,000 คน กระจายอยู่ 39 จังหวัด โรงเรียน ต.ช.ด. ส่วนใหญ่เป็นโรงเรียนอินเตอร์ เพราะมีนักเรียนหลายเชื้อชาติ หลายเผ่าพันธุ์ อาจจะเห็นนักเรียนนุ่งโสร่ง นุ่งชาวเขา เป็นชุดนักเรียน จะมีทั้งลาว พม่า เขมร เนปาล มอญ กะเหรี่ยง อีก้อ ไทยใหญ่ ลั๊วะ จีนฮ่อ ต.ช.ด. จะต้องสวมวิญญาณครู ทำทุกอย่างเพราะโรงเรียนมีครูน้อยมาก เหล่านี้ล้วนเป็นพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จย่า ในปี พ
.ศ. 2532 องค์การยูเนสโก (UNESCO) ได้มอบเหรียญรางวัลและประกาศเกียรติคุณเป็นรางวัลด้านการรู้หนังสือให้กับหน่วยงานนี้ มีผลงานดีเด่นในการส่งเสริมด้านการอ่านและการเขียน ซึ่งเป็นรางวัลระดับนานาชาติ อีก 2 ปี ถัดมา สำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์แห่งชาติ ก็ยกย่องให้เป็นหน่วยงานดีเด่นของชาติ สาขาการพัฒนาสังคมด้านการศึกษาและพัฒนาจิตใจ เป็นเกียรติยศและเป็นกำลังใจของ ต.ช.ด. ทั่วประเทศ มีบางโรงเรียนต้องเดิน 3-4 วันกว่าจะถึงโรงเรียน และมีบางโรงเรียนติดป้ายใหญ่ๆว่า “คิดอะไรไม่ออกบอก ต.ช.ด.” เพราะว่า ต.ช.ด. เหล่านี้นอกจากสอนหนังสือแล้ว ต้องทำคลอดเป็นด้วย ครูบางคนทำคลอดมา 8 ชีวิต รวมทั้งการพยาบาลขั้นพื้นฐาน จากการที่สมเด้จย่าท่านเสด็จเยี่ยมบ่อยๆท่านก็พระราชทานพระราชทรัพย์สนับสนุนให้มีการตั้งมูลนิธิ “มส. ต.ช.ด.ส.ว.” ย่อมาจาก “มูลนิธิสงเคราะห์ตำรวจตะเวนชายแดนและครอบครัว” ในพระราชอุปถัมภ์ของพระองค์ท่าน จะให้เงินสนับสนุนด้านการศึกษาแก่ลูกหลานของ ต.ช.ด. และ ต.ช.ด. ที่ได้รับบาดเจ็บทุพพลภาพก็จะได้รับความช่วยเหลือตลอดขณะนี้มูลนิธินี้ก็ยังมีอยู่ ถือว่าเป็นขวัญและกำลังใจ ทางด้านการสาธารณสุข เราคงคุ้นเคยกับกิจกรรมหน่วยแพทย์อาสาของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เรียกว่า พ.อ.ส.ว. กว่าจะมาเป็น พ.อ.ส.ว. ในทุกวันนี้มีที่มาจากการที่สมเด็จย่าท่านทรงทอดพระเนตรเห็นคนยากไร้ บาดเจ็บ เจ็บป่วย ในปลายปี พ.ศ. 2510 ทรงริเริ่มให้นายแพทย์ประจำพระองค์ 2 คน ตรวจรักษาชาวบ้านตามหมู่บ้านต่างๆ และครั้งแรกที่หมู่บ้านผาหมอน เพราะเป็นแห่งแรกที่ประทับใจและคุ้นเคยอยู่เชิงดอยอินทนนท์ แพทย์ 2 คนต่อชาวบ้าน 200 คน รักษาไม่ทันเวลา ก็เลยมีพระราชดำริจะตั้งเป็นหน่วยแพทย์อาสาในพระองค์ขึ้น ถัดมาอีก 2 ปี
ความฝันก็เป็นจริง ท่านได้ตั้งแพทย์อาสาสาธิตครั้งแรกทดลองปฏิบัติงาน
4วัน 3 คืน มีคุณกุลประไพ ทัตตานนท์ ซึ่งเป็นภรรยาของ ต.ช.ด. เป็นพยาบาลหญิงอาสาสมัคร ออกปฏิบัติงานครั้งแรกและบันทึกเรื่องราวไว้ที่ผาหมอน ขณะนั้นมี ต.ช.ด. ทำหน้าที่เป็นพยาบาล และเป็นล่ามชาวเขา เล่ากันว่าอากาศบนยอดดอยตอนนั้นประมาณ 3-4 องศา ไม่มีไฟฟ้า แต่มีเครื่องปั่นไฟเล็กๆบนที่ประทับ พอตะวันลับก็ต้องรีบสุมไฟ และทรงร่วมรับประทานอาหารรอบกองไฟกับ ต.ช.ด. ท่านจะประทับแรมในเต้นท์เหมือน ต.ช.ด. ทั่วไป แต่มีกองฟางรองพื้นเพื่อให้ความอบอุ่น ท่านทรงดูการทำงานของคณะแพทย์ หน่วยแพทย์จะอยู่ห่างเต้นท์ไป 100 เมตร โต๊ะทำงาน ม้านั่ง ชั้นที่ตั้ง อ่างล้างมือ ก็เป็นฝีมือของ ต.ช.ด. ทำขึ้นเองด้วยไม้ไผ่ ทุกเช้า ต.ช.ด. ต้องเอาผ้าใบไปบรรทุกน้ำจากลำธารมาให้ใช้ที่เต้นท์ต่างๆ พอ 8 โมงเช้าทุกคนก็จะเริ่มลงมือรักษาคนไข้ พักเที่ยง และก็จะเริ่มทำงานต่อจนถึง 5 โมงเย็น คนไข้เยอะมาก สมเด็จย่าท่านก็ทรงงานด้วย ทรงจัดยาใส่ซอง เขียนฉลากยา ตัดผ้ากอสเป็นผืนเล็กๆ ถ้าคนไข้อาการหนักก็จะไต่ถามด้วยพระองค์เอง จนกระทั่งคืนวันสุดท้าย วันที่ 4 ก็พระราชทานเลี้ยงอาหารกลางวันแก่คณะแพทย์และผู้ร่วมงานทั้งหมด 7 คน ทรงตักก๋วยเตี๋ยวผัดไทยพระราชทานหลังอาหารเที่ยงผู้คนก็เก็บของกลับพระราชตำหนักภูพิงค์ เชียงใหม่ ส่วน ต.ช.ด.ยังต้องค้างเพื่อเก็บเต้นท์และเครื่องสนามต่างๆ ก็เป็นบรรยากาศของการทดลองปฏิบัติงานครั้งแรก ท่านทรงติดใจว่าผลงานเป็นที่พอพระราชหฤทัยก็ทรงเริ่มงานครั้งที่ 2 ต่อ ในเดือนถัดมาคือ ช่วงวันที่ 9-11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2512 และในปีเดียวกันนี้ท่านก็เสด็จเยี่ยมราษฎรและมีพระราชประสงค์ให้ส่งหน่วยแพทย์ไปที่โรงเรียน ต.ช.ด. ประกิตเวชศักดิ์ ซึ่งเป็นโรงเรียนพระราชทานเหมือนกัน อยู่ที่บ้านดอยขุนสถาน จังหวัดน่าน และส่วนใหญ่แถวนั้นเป็นเขตอันตราย เคยปะทะกับแม้วแดงบ่อยครั้ง เคยมีผู้กราบบังคมทูลยับยั้งไม่อยากให้ท่านเสด็จ ท่านก็มีรับสั่งตอบว่า “ฉันไม่กลัว ใครกลัวก็ไม่ต้องไป” แสดงถึงพระราชหฤทัยเด็ดเดี่ยวที่จะช่วยประชาชน หมดความกลัวไปสิ้นเชิง พอถึงวันปฏิบัติการวันที่ 9 หน่วยสาธิตคณะเดิมก็นั่งเฮลิคอปเตอร์ ลงที่บ้านดอยขุนสถาน ปรากฏว่า ต.ช.ด. ได้จัดเตรียมสถานที่ไว้อย่างดี แพทย์ลงมือรักษาได้ทันที ประหยัดเวลา ช่วงนี้สำนักข่าวสารยูซิส (USIS) ก็ส่งนักข่าวมาทำข่าวมีการบันทึกภาพยนตร์ไปเผยแพร่ พอวันสุดท้ายเสร็จภารกิจ เดิมท่านทรงรับสั่งว่า ท่านจะมารับแพทย์ก่อนด้วยพระองค์เอง ปากฏว่าพอถึงวันนัดวันสุดท้ายผู้ก่อการร้ายเคลื่อนขบวนเข้าใกล้ที่ทำการมาก ต.ช.ด. ต้องวางแผนอารักขาสุดชีวิต เพราะท่านยืนยันว่าจะไปรับแพทย์กลับด้วยพระองค์เองแต่ด้วยพระบารมี ทุกอย่างก็ผ่านพ้นไปโดยปลอดภัย จะเห็นว่า ท่านมีความเป็นผู้นำ ทรงมีความกล้าหาญ และทรงห่วงใยผู้น้อยอย่างมาก นั่นก็เป็นความประทับใจของผู้น้อยมุกคน หลังจากนั้นวันรุ่งขึ้น ท่านก็ทรงทดลองตั้งค่ายต่อที่บ้านขุนแม่วาง อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ อีก 3 วัน ท่านก็ทรงช่วยจ่ายยาคนไข้ เตรียมเวชภัณฑ์ต่างๆ ตอนนั้นก็มีแพทย์เพียง 2 ท่าน รักษาคนไข้ได้ 365 คน หลังจาก 3 ครั้งผ่านไป ในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2512 ต้องบันทึกเป็นวันประวัติศาสตร์ของหน่วยแพทย์ พ.อ.ส.ว. เพราะว่าทรงเรียกประชุมผู้ที่เกี่ยวข้องที่พระตำหนักภูพิงค์ให้มาร่วมกันเป็นอาสาสมัครทุกคนก็ยินดี มีทั้งแพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร พยาบาล ผู้ช่วยพยาบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุขก็พร้อมกันมา นับว่าเป็นจุดเริ่มต้น พ.อ.ส.ว. อย่างแท้จริง ก็มีการดำเนินงานเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน 30 ปีแล้ว จนกระทั่งคณะแพทย์ที่ไปทำงานด้านนี้มีจำนวนมากขึ้นถือว่าแพทย์อาสาเชียงใหม่จะเป็นต้นแบบและที่อื่นก็จะมาจากที่ต่างๆแล้วแต่อาสาสมัคร สมเด็จย่าท่านเคยพระราชทานพระราชกระแสแสดงความห่วงใยต่อ พ.อ.ส.ว. อย่างมาก
ความตอนหนึ่งท่านรับสั่งว่า
“การทำงานของ พ.อ.ส.ว. นี้อย่าไปคิดว่าทำเพื่อฉัน ขอให้ทำเพื่อช่วยเหลือผู้ที่บาดเจ็บที่อยู่ห่างไกล ช่วยด้านแพทย์แผนปัจจุบัน ช่วยให้เขาได้คลายทุกข์ได้บ้าง” อีกตอนหนึ่งท่านก็รับสั่งว่า “ ฉันก็หวังว่าจะดำเนินงานด้านนี้ต่อไปอีกนานๆ เพราะว่าฉันเองก็คงไม่ได้อยู่ไปอีกกี่ปี หวังว่าพวกท่านจะดำเนินงานนี้ต่อไป โดยไม่มีฉัน” เวลาที่ท่านเสด็จไปที่แห่งใดก็ตามจะทรงดูแล ต.ช.ด. อย่างใกล้ชิดมาก เรียกว่า ทุกข์สุขของ ต.ช.ด. อยู่ในพระราชหฤทัยเสมอ จะมีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยมาเล่าให้ฟังเสมอ ตอนที่ท่านเสด็จแปรพระราชฐานไปที่ภูกระดึง ก็จะเสด็จไปเยี่ยมเต้นท์ที่พัก ต.ช.ด. ว่ากินอยู่อย่างไร ท่านไม่ทรงบอกล่วงหน้า ถ้าอากาศหนาวมากก็จะแนะให้เอาฟางข้าวมาปูพื้น เหมือนที่พระตำหนักดอยตุง บางทีหนาวถึง 6-7 องศา ต.ช.ด. จะยืนเวรยามหน้าพระตำหนัก ก็โปรดให้มีเสื้อโอเวอร์โค๊ตสักกะหลาดอย่างดี พอถึงเวรใครก็ผลัดเปลี่ยนกันใส่ ดูในรูปจะเหมือนเกสตาโปน พระราชทานผ้าพันคอถักไหมพรหมให้ด้วยแก่ทุกนาย ฝนตกก็ทรงแนะนำให้สวมเสื้อกันฝน หรือบางคืนอากาศเย็นก็ทรงเสริฟกาแฟ กลางคืนจะคอยฟังว่าได้ยินตำรวจไอก็จะมีคนเอายามาให้ หรือบางทีก็พระราชทานด้วยพระองค์เอง พวกผู้หญิงก็ต้องคอยดูแลและดูว่าคนไหนไอบ้าง จะได้ห้ามไม่ให้เข้าเวรยาม ต.ช.ด.ก็ประทับใจมาก ถือว่าได้ถวายการรับใช้ใกล้ชิด ครั้งหนึ่งก็เคยเสด็จประทับแรมที่เขื่อนศรีนครินทร์ จังหวัดกาญจนบุรี ทรงรับสั่งถาม ต.ช.ด.ที่อยู่รอบว่าหิวไหม ต.ช.ด. ทรงเกรงพระทัยก็ตอบว่า “ไม่หิวพระเจ้าค่ะ” ท่านก็โปรดนำคุกกี้มาพระราชทาน ที่บ้านพักพระราชทานจังหวัดสกลนคร ต.ช.ด. นายหนึ่งเล่าว่า “คืนหนึ่งผมออกเวรตอนเที่ยงคืนผมก็หิว ก็เลยไปที่ห้องอาหารสัญญาบัตร ก็หยิบไก่ย่างมา 5-6 ไม้ แบ่งกันทาน” รุ่งขึ้นความทราบถึงสมเด็จย่า ทรงรับสั่งให้ไปซื้อไก่ย่างมาพระราชทานเลี้ยงตำรวจที่ถวายความปลอดภัยทุกนายเลย รับสั่งว่า “หลานๆ เขาคงจะหิว” จะเห็นว่าทรงเมตตาเกื้อกูลเหมือนลูก เหมือนหลานจริงๆ ที่ตำหนักดอยตุงโปรดให้ ต.ช.ด. มาถวายความปลอดภัย ซึ่งจริงๆจะเป็นหน้าที่ของทหาร เป็นที่แห่งเดียวที่ยืนยามคู่กันและมีการวางกำลัง 9 จุด ใต้พระตำหนัก เวลาปฏิบัติหน้าที่ตรวจเวรยามก็อยู่ในสายพระเนตรตลอดทั้งกลางวันกลางคืน เช้าวันหนึ่งผู้บังคับกองร้อยถวายความปลอดภัย ก็เดินตรวจเวรยามตามปกติ พอเงยหน้าขึ้นมาก็พบสมเด็จย่าประทับยืนบนระเบียง ทรงโน้มพระองค์หย่อนพระหัตถ์ส่งผลไม้พระราชทานมาให้ ห่างจากมือประมาณ 2 เมตร ทรงรับสั่งว่า “รับดีๆ นะลูก” พอได้ผลไม้มาก็แบ่งกันรับประทาน บางคนก็ไม่รู้จัก เช่น ลูกกีวี บางคนก็บอกว่าละมุดพันธุ์นี้แปลกนะมีขนด้วย บางคนก็นำกลับบ้านไปเป็นสิริมงคล ต่อจากนี้ก็คงไม่มีโอกาสที่จะได้รับพระเมตตาอย่างนี้ ในเวลาที่ท่านประชวร ท่านก็รับสั่งกับสมเด็จพระเทพรัตน์ฯ ว่า “ย่าแก่แล้วไปไหนไม่ค่อยไหว ถ้าไปที่ไหนขอให้เยี่ยม ต.ช.ด. แทนย่าด้วย” ท่านทรงฝากฝังและเป็นห่วงมาก ….
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น